หุ่นเขียวขึ้นแท่น !!! (Cyber Weekend)

เห็นทีสุภาษิตที่ว่า 'น้ำขึ้นให้รีบตัก' จะใช้ได้กับเหล่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ฝั่งเอเชียในเวลานี้ จากกระแสความนิยมของแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่นบนระบบปฏิบัติการหุ่นกระป๋องเขียวอย่างแอนดรอยด์ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนภายในงาน 'ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป 2011 ไฮเอนด์' และครองส่วนแบ่งในงานไปกว่า 90% เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ปัจจัยหลักที่ทำให้แอนดรอยด์ได้รับความนิยมคงหนีไม่พ้นการที่เหล่าผู้ผลิตจากทั้ง เกาหลี และไต้หวัน ต่างพัฒนาแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนหลากหลายระดับราคาที่ตรงตามความต้องการโดยรวมของผู้ใช้งาน ผิดกับไอโฟนขายกันทีละรุ่น ราคาแล้วแต่ความจุ และวางจำหน่ายไปทั่วโลก หรือแบล็กเบอรีที่มีจุดเด่นเพียงแค่ระบบเมลและแชตเท่านั้นจึงทำให้เริ่มถึงจุดอิ่มตัวในตลาดบ้านเรา

จากเดิมคนไทยจะได้เห็นปรากฏการณ์ต่อแถวเพื่อเข้าคิวซื้อสินค้าไอทีแบรนด์แอปเปิลตั้งแต่การเปิดตัวไอโฟน 3G ไล่มาจนถึง 3Gs และ 4 จนถึงล่าสุดอย่าง ไอแพด 2 ก็ยังไม่วายมีเหล่าสาวกเข้าไปต่อคิวรอซื้อสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายแบบจำนวนจำกัด

แต่วันนี้ใครจะไปเชื่อว่า หุ่นกระป๋องเขียว ที่เพิ่งจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้ไม่ถึง 3 ปี จะสามารถสร้างความฮือฮาให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเทรดแฟร์โทรศัพท์มือถือ เมื่อแถวที่ยาวออกมาจากห้องจัดงานจนเกือบถึงประตูทางเข้า ล้วนแต่เป็นผู้คนที่แห่มาต่อคิวจองสินค้าที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy S2, LG Optimus 3D, HTC Sensation และแท็บเล็ต Samsung Galaxy Tab กับ Acer ICONIA A500

เสียงสะท้อนจากลูกค้าที่ชื่นชอบซัมซุงที่อยู่ในคิวเพื่อจองสินค้าระบุว่า ตนกับเพื่อนมาเข้าคิวหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตั้งแต่ตี 5 วันแรกของการเปิดจอง Galaxy S2 ส่วนตัวชอบมาตั้งแต่ Galaxy S รุ่นแรก โดยมองว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มีข้อดีกว่าไอโอเอสจากแอปเปิลในเรื่องของราคา พอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐาน สเปกที่สูงกว่า และสามารถซิงก์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ได้ง่ายกว่า

นี่ถือเป็นปรากฏการณ์แรกในเมืองไทย หลังจากแอนดรอยด์เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยกว่า 3 ปี อะไรทำให้ปี 2011 เป็นปีที่หุ่นยนต์สีเขียวครองเมือง?

ต้องยอมรับเลยว่าเรื่องการทำตลาดของผู้ผลิตแบรนด์เกาหลี อย่างซัมซุง และแอลจีนั้น ทำออกมาได้ถูกอกถูกใจคนไทยมาก เริ่มกันตั้งแต่ในเรื่องของราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งจาก iOS แต่กลับมีสเปกที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น โปรโมชันภายในงานโมบาย เอ็กซ์โป 2011 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ซัมซุงมอบสิทธิให้แก่ลูกค้า โดย 1,000 คนแรกที่ทำการจอง Galaxy S2 ภายในงานจะได้รับส่วนลดค่าโทร. 3,000 บาท พร้อมทั้งอุปกรณ์เสริมและข้อเสนอพิเศษจากโอเปอเรเตอร์มูลค่ากว่า 5,000 บาท, Samsung Galaxy Tab 10.1 มอบเครื่องเล่น มัลติมีเดียแบบพกพา Galaxy Player มูลค่า 6,900 บาท ให้แก่ลูกค้าที่จองเครื่อง 300 คนแรก และ Acer Iconia ที่ลดราคาให้แก่ลูกค้า 100 คนแรก จาก 14,900 เหลือเพียง 9,900 บาท เรียกกันว่าถ้าทำได้ก็แทบจะแจกเครื่องฟรีให้ไปใช้กันเลยทีเดียว

และด้วยความที่เป็นระบบปฏิบัติการเปิด ที่กูเกิลเปิดให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือนำชุดคำสั่ง (SDK) ไปพัฒนาต่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของค่ายนั้นๆ จึงทำให้แอนดรอยด์ถูกนำมาใช้บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหลายยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นเอชทีซี, ซัมซุง, แอลจี, เอเซอร์, เดลล์ รวมไปถึงเฮาส์แบรนด์อย่างไอ-โมบาย

อีกทั้งยังมีราคาให้เลือกหลายระดับตามงบประมาณของผู้ใช้งาน (3,900 - 21,900 บาท) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแอนดรอยด์ที่ทำให้หุ่นยนตร์เขียวนี้กระจายไปยังผู้ใช้งานได้มากกว่า ในขณะที่ iOS กลับผูกขาดที่แบรนด์แอปเปิลเพียงอย่างเดียว มีปีละรุ่นเดียว ต่างกันที่พื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมีได้แค่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

ในส่วนของการโปรโมตเครื่องก่อนมีวางจำหน่ายจริงก็ถือเป็นจุดขายหลัก ด้วยความที่มีมากมาย หลายรุ่น และหลายยี่ห้อ ดังนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่ย่อมต้องการเห็น และสัมผัสตัวเครื่องก่อนจะมีการตัดสินใจซื้อจริง ซึ่งทางค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติแอนดรอยด์ต่างโหมโรงกระจายสินค้าไปยังร้านค้าตัวแทนจำหน่ายเพื่อให้ผู้ใช้งานได้ทดลองเล่นเครื่องจริง รวมไปถึงการใช้บล็อกเกอร์ และสื่อออนไลน์ทำการทดสอบสินค้า เพื่อนำเสนอให้เห็นผลการทดสอบจริง ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่สะดวกที่จะเดินทางไปทดลองเล่นสินค้าเองที่ร้าน ซึ่งกระแสปากต่อปากจากผู้ที่ได้ใช้งาน กลายเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค

ทั้งหมดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใด วันแรกของการเปิดจองอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทั้ง 5 รุ่นภายในงาน จะทำให้มีผู้ที่สนใจมาเข้าคิวจองตั้งแต่ตี 4 เพื่อรับบัตรคิวจอง ก่อนจะรับเครื่องจริงในเดือนกรกฎาคม

ล่าสุดทีมผู้จัดงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โปร 2011 รายงานยอดการซื้อขายและสั่งจองสมาร์ทโฟนภายในงาน ระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน รวมทั้งสิ้น 1,470 ล้านบาท โดย 90% ของยอดขายคืออุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ถือเป็นแชมป์ของงานนี้ไปโดยปริยาย

กระแสความนิยมของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ข้างต้น สอดคล้องกับผลสำรวจจากบริษัทการ์ทเนอร์ ที่ระบุว่ายอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ราว 100 ล้านเครื่อง โดยเครื่องส่วนใหญ่วางขายพร้อมระบบปฏิบัติแอนดรอยด์ คิดเป็นสัดส่วน 36% บนยอดขายมากกว่า 36.2 ล้านเครื่อง ในขณะที่ระบบปฏิบัติการซิมเบียนของโนเกียมีสัดส่วนอยู่ที่ 27.4% มียอดจำหน่าย 27.6 ล้านเครื่อง ไอโอเอสของแอปเปิล 16.8% และแบล็กเบอรีของริมมีสัดส่วน 12.9%

** แอปเปิลเก่า บีบีทรง ซิมเบียนหาย? **

ในช่วงนาทีทองของแอนดรอยด์ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิลกำลังอ่อนกำลังลง คงหนีไม่พ้นเรื่องของความซ้ำซากจำเจ รวมถึงสเปกการใช้งานที่ถือว่าอ่อนกว่า เมื่อเทียบกับแอนดรอยด์

มองย้อนกลับไปที่ไอโฟน 4 สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด ที่มีหน้าจอแบบเรติน่าดิสเพลย์เป็นจุดขายสำคัญ รวมไปถึงกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ในราคาเริ่มต้นที่ 22,095.50 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อเทียบกับแอนดรอยด์สามารถหาได้ในราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ขณะที่ความเร็วซีพียู การ์ดจอสำหรับแสดงผล และความสามารถอื่นๆสูงกว่า

ในส่วนของแบล็กเบอรี ที่เคยมีแอปพลิเคชัน BB Messenger เป็นจุดขายหลัก จนทำให้ใครต่อใครเปลี่ยนใจจากซิมเบียน และวินโดวส์มาใช้ระบบปฏิบัติการ Blackberry จากค่าย RIM แม้รู้ทั้งรู้ว่าแบล็กเบอรีนั้นจะขึ้นชื่อเรื่องของปัญหาเครื่องค้าง และมีแอปพลิชันน้อยกว่า แต่ในที่สุดก็ถูกแอปพลิเคชัน WhatsApp เขี่ยทิ้งไป เนื่องจากแอปดังกล่าวรองรับการใช้งานทั้งในแบล็กเบอรี ไอโอเอส และแอนดรอยด์ ทำให้ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง 3 ระบบสามารถสนทนากันได้โดยไม่ต้องง้อ BB Messenger

ปิดท้ายที่แชมป์สมาร์ทโฟนอย่างซิมเบียน ที่เคยเป็นดาวค้างฟ้าในอดีต ปัจจุบันกลับกลายเป็นนางเอกตกกระป๋องที่ถูกลืม แม้โนเกียจะพยายามดิ้นรนเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ๆ และสร้างความเป็นอีโค ซิสเต็มส์ให้เกิดขึ้น โดยการเปิดให้หน่วยงานที่สนใจเข้ามาสร้างแอปพลิเคชันใหม่ๆ เพื่อใช้บนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการซิมเบียน 3 หรือการอัปเกรดเวอร์ชันใหม่อย่าง "ซิมเบียน แอนนา" เพื่อให้มีความน่าสนใจเท่าคู่แข่งจากทั้ง 2 ค่าย แต่ก็ไม่สามารถทำได้

เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ยอมตกลงปลงใจ ควักกระเป๋าซื้อสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการใหม่ของโนเกีย นอกเหนือไปจากเรื่องของแอปพลิเชันแล้ว เรื่องของราคาก็ยังมีส่วนสำคัญ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการซิมเบียน 3 ของโนเกียมีราคาถูกสุดอยู่ที่ 10,900 บาท ซึ่งถือว่ายังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างแอนดรอยด์

แอปพลิเคชันน้อย ลูกเล่นน้อย กั๊กสเปก ราคาสูง...ไม่ตกม้าตายให้มันรู้ไป

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระบบปฏิบัติการซิมเบียนกำลังจะจางหายไป คงเป็นเรื่องของการจับมือร่วมกับไมโครซอฟต์ เพื่อวางแผนให้ Windows Phone 7 เป็นระบบปฏิบัติการหลักในสมาร์ทโฟนของโนเกีย แทนการใช้ซิมเบียนอย่างที่เคยเป็นมา โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการเปลี่ยนถ่ายระบบปฏิบัติการ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการลดความน่าเชื่อถือที่มีต่อระบบปฏิบัติการซิมเบียนในใจผู้บริโภคให้จางหายไป

** WWDC ไร้เงาไอโฟนรุ่นใหม่ **

กลายเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่แอปเปิลไม่มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในงาน WWDC 2011 โดยแอปเปิลเลือกที่จะใช้เวทีในการเปิดตัว 2 ระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง OS X เวอร์ชัน Lion และ iOS5 กับรูปแบบบริการบนกลุ่มเมฆนาม 'iCloud' ที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าใจถึงบริการคลาวด์ที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายพร้อมลงทุนใช้ในอนาคตอันใกล้นี้

จุดนี้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นในระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพาของแอปเปิลอย่าง iOS 5 เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของคนหมู่มาก โดยอิงความสามารถหลักจากคู่แข่งและนำมาใส่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแอปเปิลเข้าไป

สิ่งที่เกิดขึ้นคือฟีเจอร์การแจ้งเตือนรูปแบบใหม่ (Notification) ระบบแชต 'iMessenger' ที่สามารถใช้แชตบนอุปกรณ์พกพาของแอปเปิลทุกชนิดที่ใช้ iOS 5 ไม่ว่าจะเป็น ไอโฟน ไอแพด ไอพอดทัช บริการ 'iCloud' ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถซิงก์ข้อมูล รายชื่อ ปฏิทิน รูปภาพ พร้อมระบบสำรองข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์ของแอปเปิลให้มีข้อมูลเหมือนกันภายใต้ข้อมูลผู้ใช้รายเดียว

ซึ่งจะเห็นได้ว่าความสามารถต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาบน iOS 5 นั้น คือจุดเด่นที่ถูกพูดถึงในระบบปฏิบัติการอย่างแอนดรอยด์ และแบล็กเบอรีมานานพอสมควรแล้ว แต่มีอีกจุดที่อีก 2 คู่แข่งยังมาสามารถตามทันได้คือระบบบริหารจัดการเพลงบนไอจูนส์ ที่ล่าสุดใส่ความสามารถ 'iTunes Match' มาให้ผู้ใช้ที่เคยดาวน์โหลดเพลงจากในระบบ สามารถใช้ไอจูนส์ตรวจสอบเพลงให้มีความคมชัดสูงขึ้น และแชร์ไปยังอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ภายใต้บัญชีผู้ใช้เดียวัน

แต่ทั้งนี้ การเปิดตัวเพื่อโชว์ศักยภาพของระบบปฏิบัติการ iOS5 รุ่นใหม่นี้ ถูกกำหนดช่วงเวลาเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปดาวน์โหลดมาใช้งาน ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือราวเดือนกันยายนเป็นต้นไป จึงทำให้ยังมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของหุ่นกระป๋องเขียวนามแอนดรอยด์ต่อไปอีกหนึ่งไตรมาสก็ว่าได้
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน