'แอนดรอยด์'มาแล้ว'ไอโฟน'หลบหน่อย

หลังจากไอโฟน (iPhone) เปิดตัวออกสู่ตลาด และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ในการนำเสนอรูปแบบการใช้งาน "สมาร์ทโฟน หรือ พีดีเอ โฟน" วิธีใหม่ ที่ใช้งานง่าย ผ่านการสั่งการด้วยใช้นิ้วสัมผัส ลาก หรือเคาะ ส่งผลให้ "ไอโฟน" สามารถยกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน แซงหน้าค่ายเก่าแก่หลายค่ายซึ่งครองตลาดนี้มานาน

แน่นอนความสำเร็จในครั้งนี้ ความดีความชอบไม่ได้ตกไปอยู่ในแผนกออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่จะต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้โปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนา ซอฟต์แวร์ iPhone OS ซึ่งสามารถสร้างมาตรฐานของระบบประสานงานกับผู้ใช้ (User Interface) ใหม่ ทั้งในแง่การใช้งาน หรือการต่อเติมซอฟต์แวร์ โดยการเปิดให้นักพัฒนาภายนอกมาร่วมพัฒนา ซึ่งแนวทางนี้ส่งผลให้ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานบน iPhone OS มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรูปแบบเสียเงิน หรือให้โหลดฟรีบน App Store และสุดท้ายกลายมาเป็นโมเดลทางธุรกิจ ที่ทำให้ผู้ผลิตมือถือค่ายอื่นๆ ต้องเดินตามแนวทางเดียวกัน เห็นได้จากระบบปฏิบัติการ Window mobile, Blackberry, Symbian, Palm และ Android ก็กำลังพัฒนาธุรกิจไปในโมเดลเดียวกับ iPhone OS

อย่างไรก็ดีในจำนวนระบบปฏิบัติการเกือบทั้งหมด มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่น่าจะต่อกรกับ iPhone OS ในตลาดใหญ่ได้อย่างสูสี นั่นก็คือแอนดรอยด์ "Android" ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดยทีมงานของกูเกิล

สำหรับจุดเด่นของเจ้าแอนดรอยด์ตัวนี้ คือ การเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด (โอเพ่นซอร์ส) ที่รันบนลีนุกซ์ และและเขียนระบบด้วยโปรแกรม Java ซึ่งสิ่งที่ทำให้ "แอนดรอยด์" แตกต่างจากระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถืออื่น ตรงที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สนใจ เข้ามาต่อยอดสร้างสรรค์ความคิดพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างไม่จำกัด และไม่เสียค่าใช้จ่ายดาวน์โหลดโปรแกรมพัฒนาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกูเกิลต้องการสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มผลงานแอพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนแอนดรอยด์อย่างรวดเร็ว ผิดกับแอปเปิลที่โปรแกรมเมอร์จะต้องเสียค่าดาวน์โหลดโปรแกรมไปพัฒนาในราคา 99$ (3,400 บาท) สำหรับระดับมาตรฐาน แต่ถ้าเป็นระดับธุรกิจ ราคาจะอยู่ที่ 299$

ปัจจุบันกูเกิลได้เปิดตัว Android Market เปิดให้นักพัฒนานำซอฟต์แวร์มาวางขายในตลาดดังกล่าว ซึ่งปริมาณชอฟต์แวร์ในตลาดดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยผลักดันให้แอนดรอยด์น่าจะประสบความสำเร็จในอนาคตอีกประการ คือ การมีกลุ่มพันธมิตร ซึ่งเป็นทั้งค่ายผู้ผลิตและผู้ให้บริการเครือข่ายยักษ์ใหญ่หนุนหลังกว่า 34 บริษัท โดยรู้จักกันดีในนาม "Open Handset Alliance" ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าร่วม อย่าง กูเกิล, เอชทีซี, อินเทล, แอลจี, ซัมซุง, โมโตโรล่า, เอ็นวีเดีย, ที-โมบาย, หัวเว่ย, โวดาโฟน, โซนี่ อีริคสัน, อัสซุส, การ์มิน, เอทีแอนด์ที เป็นต้น รวมถึงค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทย อย่าง เอไอเอส และดีแทค ก็ให้การสนับสนุนเจ้าแอนดรอยด์ตัวนี้เช่นกัน

พร้อมกันนี้ บรรดาค่ายผู้ผลิตมือถือก็เริ่มเข็นโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ลงตลาดบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น HTC Dream หรือที่รู้จักกันในนาม T-Mobile G1 หรือตัวล่าสุดที่ เอไอเอส เพิ่งนำมาเปิดตัวในประเทศไทยก็คือ HTC Magic และในเร็วๆ นี้ ซัมซุง ก็จะเปิดตัว Samsung I7500 ซึ่งเป็นมือถือที่รองรับแอนดรอยด์เช่นกัน นอกจากนี้ค่ายอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มพันธมิตรก็ประกาศว่า จะเริ่มเปิดตัวมือถือแอนดรอยด์ตามมาในช่วงปลายปีนี้

ไม่พอเท่านั้น เจ้าแอนดรอยด์ยังไประบาดข้ามสายพันธุ์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ "เน็ตบุ๊ค" ด้วย

ทั้งนี้ เพราะเจ้า "เน็ตบุ๊ค" หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ขนาดเล็กราคาประหยัด นั้นเฟื่องฟูมากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ และคาดว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตอย่างมากในอนาคต

โดยในปัจจุบัน ผู้ผลิตเน็ตบุ๊คต่างเผชิญทางเลือกในการใช้ระบบปฏิบัติการ ระหว่าง "วินโดวส์" (ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์) และ "ลีนุกซ์" (ระบบเปิดที่ใช้ฟรี) ซึ่งปัจจุบัน ทุกเจ้ามีสินค้าให้ลูกค้าเลือกใช้ 2 ทางเลือก แต่แนวโน้มแล้ว หลายเจ้าเลือกเจ้าลีนุกซ์เพื่อเป็นการลดต้นทุน อีกทั้งยังทำงานได้ดีกว่าวินโดวส์ ที่ค่อนข้างใช้ทรัพยากรมากเกินไปสำหรับสเปกของเน็ตบุ๊ค และด้วยความที่ "แอนดรอยด์" นั้นพัฒนาขึ้นบนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ จึงกลายเป็นทางเลือกให้กับเน็ตบุ๊คไปด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่มือถือ

ล่าสุด เอชพีได้มองไปถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่จะนำใช้บนเน็ตบุ๊คด้วย เพราะเอชพีมองว่า แอนดรอยด์เน้นเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสาร และการทำงานแบบโมบิลิตี้ด้วย ดังนั้นมันน่าจะเหมาะสมสำหรับการใช้งานร่วมกับเน็ตบุ๊คเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ ที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ให้สามารถรองรับเครือข่าย 3G หรือ WiMAX มาพร้อมในตัว

นี้เป็นเพียงปฐมบท การเปิดตัวของแอนดรอยด์คงจะต้องติดตามต่อไปว่า อนาคตสงครามระหว่างกูเกิล แอนดรอยด์ กับแอปเปิล ไอโฟน จะห้ำหั่นกันเพียงไหน รวมถึงบุคคลที่สามและสี่ อย่างไมโครซอฟท์ วินโดวส์ โมบาย กับซิมเบียน จะปรับทัพสู้กันอย่างไร เดาไม่ถูกจริงๆ.
ที่มา thaipost

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน